วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย



พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย




พระกริ่งพระยาดำรง ๑๔๒ ปี พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย



        สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๐๕ ทรงพระนามว่า "ดิศวรกุมาร" ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกราชวัลลภ รับราชการเป็นร้อยตรีทหารราบ ทหารม้า และราชองครักษ์ เจริญพระยศถึงพลตรี ต่อจากนั้นทรงรับภาระจัดราชการฝ่ายศึกษาธิการและธรรมการอยู่ประมาณ ๓ ปี พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงพิจารณาเลือกใช้รูปการปกครองแบบเทศาภิบาลและสุขภิบาล อันเป็นต้นของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

        ทั้งยังได้ทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ขึ้น เพื่อกำหนดหน้าที่ ให้ข้าราชการมหาดไทยมีหน้าที่ปกครอง ป้องกัน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน และกำหนดท้องที่ปกครองแบ่งเขตเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มจัดระบบงานสุขาภิบาล สาธารณสุขและอนามัย ตลอดจนจัดวางระบบของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กรมป่าไม้ กรมสรรพากร เป็นอาทิ ซึ่งล้วนมีผลยืนยงเป็นแบบอย่างสืบมาจนปัจจุบันนี้

        นอกจากนั้น ยังทรงใฝ่พระทัยในวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดีวิทยาการนานาชนิด ทรงรวบรวมสรรพตำราและสรรพวัตถุประดิษฐานขึ้นเป็นหอสมุดและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งได้นิพนธ์วิทยาการเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน เป็นที่รับรองยกย่องโดยทั่วไป จนได้รับการ ถวายฐานันดรจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก

        ทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงริเริ่มและวางรากฐานการดำเนินงานของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพระองค์ท่านก็ทรงอุทิศเวลา ทรงพระนิพนธ์หนังสือตำราต่างๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลก จนได้รับพระสมัญญาเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" และทรงได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นบุคคลสำคัญของโลก คนแรก ของประเทศไทย ในปี ๒๕๐๕

        สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ รวมพระชนมายุได้ ๘๑ พรรษา



 แหล่งอ้างอิง   http: // www.google.com

                     หนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้อง






                           

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น